ราชมงคลพระนคร ร่วมมือกับ บก.น. 8 จัดงานการเสวนาวิชาการกลุ่มย่อย “มิจฉาชีพออนไลน์” เพื่อเสนอแนวทางป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์

24 มิ.ย. 2564 16:33 , จำนวนผู้เช้าชม : 67613 คน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ โรงแรม รามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ดร. ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประธานในพิธี ได้กล่าวเปิดงานถึงที่มาของโครงการพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่ระบุตัวตน (ระยะที่ 1) 

 

ว่าสภาพปัญหาภัยคุกคามจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาศัยช่องโหว่ ทั้งจากคน ระบบ และกระบวนการ ตลอดจนข้อกฎหมายที่ยังมีจุดอ่อน และข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพแอบแฝงเข้ามาหาผลประโยชน์ด้วยกลโกงรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้การเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์มือถือไปเรื่อย ๆ และใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะเป็นเครื่องมือหลักในการกระทำความผิดเพื่อหลอกเหยื่อซึ่งอาจเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบตัวตนจริงของบุคคลที่ทำธุรกรรมด้วยอย่างละเอียดถี่ถ้วน 

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่น คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคดีความที่มีมูลค่าความเสียหายน้อย ทำให้ผู้เสียหายไม่อยากเสียเวลาในการแจ้งความดำเนินคดี ทั้งที่มิจฉาชีพเหล่านี้ได้กระทำความผิดกับผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่ารวมมหาศาลแต่ไม่ถูกดำเนินคดี

 

โดย ดร.เทอดพงษ์  แดงสี หัวหน้าโครงการฯ ได้บรรยายถึงที่มา และวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการฯ โดยได้กล่าวถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในประเทศ และความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถจะเป็นผู้ซื้อ-ผู้ขายได้ เนื่องจากติดต่อซื้อขายกันได้ง่ายขึ้นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 

 

ในเนื้อหาการบรรยาย ได้ระบุว่า นอกจากการที่ประชาชนในประเทศให้ความสนใจ ซื้อขาย หรือทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อ และสังคมออนไลน์ จะทำให้เกิดผลประโยชน์ให้เชิงบวกแล้ว การซื้อขาย หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางสื่อ และสังคมออนไลน์ ยังทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่มาจากมิจฉาชีพออนไลน์ ที่มักจะมีกลโกงที่แอบแฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อหลอกหรือล่อลวงผู้ที่ซื้อขายหรือทำธุรกรรมออนไลน์ ที่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลในการยืนยันตัวตนที่แท้จริงของบุคคลเหล่านี้โดยละเอียด ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้มักจะมีการใช้วิธีการในการฉ้อโกงโดยการใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหลักในการกระทำความผิด 

 

สำนักงาน กสทช. จึงในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อต้องการศึกษาระบบการติดตาม ป้องกัน และต่อต้านการกระทำความผิดของมิจฉาชีพออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยได้คัดเลือกให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกับ พ.ต.อ.นิภพล สุขนิยม ผู้กำกับการสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 ดำเนินการโครงการ พัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกัน และปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ที่ไม่ระบุตัวตน (ระยะที่ 1 ) เพื่อพัฒนาเป็นระบบต้นแบบสำหรับช่วยในการติดตามหาผู้ประทำความผิดมาดำเนินคดี 

 

ต่อมา พ.ต.อ. ดร.ปราโมทย์ จันทร์บุญแก้ว ผู้กำกับการฝ่ายตรวจสอบสำนวนคดีฎีกา ส่วนตรวจสอบสำนวนคดีอุทธรณ์และฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งปัญหาในการติดตาม และจับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อนำมารับโทษที่ใช้เวลาในการดำเนินงานเป็นระยะเวลานาน อันเนื่องมาจากการเข้าถึงข้อมูลที่ทำได้ยาก และขาดเครื่องมือในการติดตามที่รวดเร็ว จึงทำให้ผู้กระทำความผิดก่อเหตุหรือก่อคดีซ้ำกับผู้เสียหายรายอื่น 

 

ทางเจ้าหน้าตำรวจจึงขอความร่วมมือไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีการในการลดเวลาในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมารับโทษ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเหยื่อรายอื่น โดยการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการจับกุมผู้กระทำความผิดให้ได้อย่างทันท่วงที และสามารถคืนทรัพย์สินให้ผู้เสียหายได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง 

 

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ดร.ปราโมทย์ จันทร์บุญแก้ว ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมโดยอ้างถึงองค์ประกอบในการเกิดอาชญากรรมว่าประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด และช่องโอกาส จาก 3 องค์ประกอบนี้ ทางหน่วยงานตำรวจสามารถดำเนินการในส่วนข้อมูลของผู้กระทำความผิดได้โดยตรง จากการเก็บข้อมูลหลักฐานในการกระทำความผิดนั้น และทำการตรวจสอบเบื้องต้นในกรณีที่เกิดการทำผิดซ้ำ จากข้อมูลในระบบทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจะดำเนินการจากแบล็คลิสได้ทันที แต่ในส่วนของผู้เสียหายจะไม่ทราบเข้าถึงข้อมูลนี้ จึงอยากให้มีการพัฒนาระบบที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง เช่น ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของผู้กระทำความผิด เพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่ตกเป็นเหยื่อเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ 

นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวเสริมว่า ต้องการให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างตำรวจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมมือกันในการแก้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ให้ลดน้อยลง แม้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดก็ตาม ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งดี 

โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) สำนักงาน กสทช. 2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 4) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) 5) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 6) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 7) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้เสนอแนะแนวทางที่เป็นไปได้ ปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดทั้งประเด็นของความยั่งยืนยืนของโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไปจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ

ในช่วงสุดท้ายของการเสวนา ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านในที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเสียงเดียวกันที่จะให้ความร่วมมือกันในการแก้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ให้ลดน้อยลง ตลอดทั้งสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดให้เร็วยิ่งขึ้นถึงแม้ว่ากระบวนการดำเนินงานจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา และปรับปรุงกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน